อ่านหนังสือเก่าเล่มโปรด “ลับสมอง” ช่วงอยู่บ้าน หนีหน้า COVID-19
25 มีนาคม – 5 เมษายน 2563 ได้บันทึก timeline ไว้ใน planner ว่าอย่างน้อย 1 วันจะเดินทางไปเที่ยวและชมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 48 ณ เมืองทองธานี
ในเวลาต่อมามีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้แผนที่วางไว้เกือบเป็นศูนย์ หากแต่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ได้ปรับรูปแบบการจัดงาน เป็นแบบ Online Book Fair แทน แต่ทว่าก็ไม่ตรงใจของ 60up เลย เพราะชอบที่จะเดินทางไปชมนกชมไม้ (เด็กๆ รุ่นใหม่ คุ้นชินคำนี้ป่าวจ๊ะ) ตามวิสัยที่ติดตัวมามากกว่า แต่เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องปรับแผนกันใหม่ เป็นสั่งซื้อหนังสือทาง online แทน…วันนี้ที่ post ได้สั่งหนังสือมาแล้ว 1 boxset: 3 เล่ม ค่ะ …
…ระหว่างนี้ที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่กับบ้าน 60up นั่งๆ กินๆ นอนๆ อยู่หลายวัน เวลาว่างเหลือเฟือ จึงรื้อดูข้าวของนั่นนี่โน่นไปเรื่อย จนไปเจอ หนังสืออ่านเล่นชื่อ “ลับสมอง” ที่ยังหลงเหลืออยู่จำนวน 5 เล่ม อดไม่ได้ที่จะหยิบขึ้นมาเปิดดูและอ่านซ้ำอีกครั้ง ที่จริงใช้คำว่า อ่าน ไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะ “ลับสมอง” เป็นหนังสือประเภทนิตยสารเกม ผู้อ่านส่วนใหญ่ที่เคยซื้อมักจะเป็นคนที่ชอบเล่นเกมบนกระดาษ มีอุปกรณ์ในการเล่น คือ ปากกาคู่กับ liquid paper และ/หรือ ดินสอคู่กับยางลบ
…มองย้อนไปในอดีต เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา นิตยสารเกมรายปักษ์ “ลับสมอง” มีวางขายตามแผงและร้านหนังสือทั่วไป โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ สำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ตำนานผู้สร้างเสียงหัวเราะในหนังสือ ขายหัวเราะ มหาสนุก สาวดอกไม้นายกล้วยไข่ฯ ที่ครอบครัว 60up ลูกค้าขาประจำซื้อหนังสือตระกูลขายหัวเราะอ่านติดต่อกันยาวนานจนถึงทุกวันนี้
หากนับวันเวลาที่เริ่มติดตามอ่าน หนังสือ “ลับสมอง” ได้เดินทางเพื่อการจำหน่ายมาจนถึงปีที่ 26 ในปี พ.ศ.2560 จู่ๆ ฉบับหลังเดือนเมษายนไม่วางแผงซักที 60up เลยตัดสินใจโทรศัพท์ไปที่สำนักพิมพ์ และได้รับคำตอบว่า “ยกเลิกการผลิต”
ลูกค้าประจำอย่าง 60up รู้สึก sad และเสียดายมาก ตั้งแต่นั้น หนังสือ “ลับสมอง” ก็หายไปจากโลกของนักอ่านพร้อมกับการค่อยๆ ทยอยปิดตัวลงของหนังสือและนิตยสารต่างๆ บนแผงหนังสือ
หนังสือ “ลับสมอง” มีดีอย่างไรที่ต้องจดจำ ที่ต้องระลึกถึง มาอ่านกันดูค่ะ
คำถามที่ 1 ทำไมจึงซื้ออ่านเป็นเวลายาวนาน
คำตอบ: รายการชนิดของเกมในสารบัญ บอกให้รู้ว่า เกมมีมากชนิด ผู้อ่านจะเลือกเล่นหรือชอบเกมแบบไหน “ลับสมอง” มี serveให้ทุกรูปแบบ
คำถามที่ 2 คุ้มค่าการลงทุนซื้ออ่านหรือไม่
คำตอบ: ราคาหนังสือเล่มล่าสุด 30 บาท ใน 1 เล่มที่ซื้อมา สมาชิกในครอบครัว 60up ได้ใช้บริการร่วมกัน ลองตรวจสอบดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ ดังนี้ค่ะ
– เกมโปรดของคุณป๊าป๋าของลูก ได้แก่ เกมสืบสวนสอบสวนและตัวเลข เช่น เกมสืบสวนคดี เกม SUDOKU ตาราง 9×9
– เกมโปรดของลูกสาว ได้แก่ เกมเกี่ยวกับการค้นหาฝึกทักษะการสังเกต เพลงและภาษาอังกฤษ เช่น เกมสนุกกับเพลง เกมค้นหาคำสนุก
– เกมโปรดของลูกชาย ได้แก่ เกมเกี่ยวกับตัวเลข เช่น เกมจัตุรัสสัดส่วน เกมเลขประจันหน้า
– เกมโปรดของ 60up ได้แก่ เกมเกี่ยวกับภาษาไทย และเกมที่ต้องใช้ความคิด เช่น เกมวางตำแหน่งเต็นท์และต้นไม้แบบมีเงื่อนไข เกมอักษรไขว้ เกมชิงรางวัล ฯลฯ
คำถามที่ 3 ได้อะไรจากการอ่านและเล่นเกม “ลับสมอง”
คำตอบ:
Tips 1: ได้ฝึกทักษะความช่างสังเกต ได้แก่ เกมสืบสวนคดี เกมค้นหาความแตกต่างของ 2 ภาพ เกมค้นหาสิ่งของที่มีหน้าตาเหมือนกัน เกมเติมภาพส่วนที่หายไป
Tips 2: พัฒนาทักษะภาษา ได้แก่ เกมดงวรรณกรรม เกมเส้นทาง ก-ญ เกมผสมอักษร เกมค้นหาคำสนุก เกมภาพสร้างอักษร เกมอักษรในวงกต
Tips 3: พัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ ได้แก่ เกม วงจร 1 ถึง 5 เกม ล็อตโต้วัดดวง เกม SUDOKU ตาราง 9×9
คำถามที่ 4 คนไม่เคยเล่นเกมแบบนี้มาก่อน จะเล่นได้หรือ
คำตอบ: Tricks สำหรับผู้เล่นเกมรายใหม่ อ่านกติกาแล้วลองฝึกเล่นก่อน ถ้าพยายามแล้ว ไม่ work แนะนำให้ไปอ่านเฉลยท้ายเล่มเสียก่อน แล้วค่อยๆ กลับมาฝึกเล่นต่อไปค่ะ
เมื่ออ่านมาถึงวรรคสุดท้าย อยากจะบอกผู้อ่านอีกอย่างว่า หนังสือ “ลับสมอง” ยังมีดีตรงที่ให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมใน เกมชิงรางวัล อีกด้วยค่ะ
อย่างนี้แล้ว ชาว net เห็นด้วยใช่ไหมคะว่า หนังสือ “ลับสมอง” เหมาะสมเป็นหนังสืออ่านเล่นเล่มโปรดจริงๆ