ขยะสะสมรายการที่ 2 “ดินสอไม้” ไอเท็มที่ชอบใช้
ดินสอไม้ ขยะสะสมที่น่าทึ่ง
ครั้งนั้นที่ 60up ยังอยู่ในตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ การจัดประชุม/อบรม/สัมมนา ส่วนใหญ่มักจะใช้โรงแรม เป็นสถานที่จัดประชุม และเมื่อเข้าห้องประชุมในทุกตอนเช้า เราก็จะพบเห็นน้ำดื่ม 1 แก้ว/ขวด กระดาษ A4 1 แผ่น พร้อมด้วย ดินสอไม้ 1 แท่ง วางอยู่ทุกที่นั่งเสมอ ดูเหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปซะแล้ว ดังนั้น หลังเลิกกิจกรรม ก็มักจะพบเห็นดินสอถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดเสมอๆ บางคนที่เก็บรวบรวมดินสอกลับไป ให้เหตุผลว่า จะเอาไปบริจาคให้นักเรียนชั้นเด็กเล็กที่ขาดแคลน แต่ 60up ได้เก็บไปเพื่อใช้เขียนบันทึกการทำงาน รู้สึกมีความสุขขณะใช้ดินสอเขียนหนังสือ แล้วก็คิดย้อนไปว่าตอนเด็กๆ ที่ใช้ดินสอเขียนหนังสือ มีความรู้สึกที่ดีกับ เจ้าดินสอ แบบนี้มั้ยน้อออ…จึงเพลิดเพลินกับการเก็บดินสอไว้แทบทุกครั้ง และก็พบว่าดินสอไม้ที่รวบรวมเอาไว้ครั้งละแท่ง 2 แท่ง ได้กลายเป็นขยะรายการใหญ่ เมื่อหยิบขึ้นมาดูใหม่ กลับพบว่าเสมือนมันจะมีบางอย่างแฝงอยู่อย่างมีนัยยะ และก็เป็นจริงเช่นเดียวกับขยะสะสมรายการอื่น ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นตัวตนของ 60up แต่ต่างกันตรงที่ ดินสอไม้จำพวกนี้บอกเล่าเกี่ยวกับ ทุกๆ เส้นทาง ของการใช้ชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในสายงานอาชีพจนถึงเกษียณกาล
Mode ภาพดินสอไม้: เส้นทางการทำงาน
การ Post เรื่องดินสอไม้ในครั้งนี้ นอกจากจะเล่าเรื่องความทรงจำดีๆ ขณะทำงานมาฝากแล้ว 60up ได้ลงภาพดินสอขยะสะสมอีกหลายแบบ พร้อมแทรกความรู้เกี่ยวกับดินสอมาฝากด้วย ติดตามอ่านต่อจากนี้เลยนะคะ หวังว่าคงช่วยให้ความเพลิดเพลินแก่ ชาว net ช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กันซักเล็กซักน้อยนะคะ จะ react อะไร เชิญได้ค่ะ แลกเปลี่ยนกัน
Mode ความรู้เรื่องดินสอไม้
ดินสอ: เครื่องมือที่ใช้เพื่อการขีดเขียน ราคาถูก และเป็นที่นิยมใช้มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน คุณสมบัติที่ดี คือ สามารถลบ/แก้ไข/เปลี่ยนแปลงได้ง่าย นิยมใช้กับงานด้านการเขียนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะถูกต้อง หรืออาจจะต้องมีการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในงานวาดรูป งานออกแบบเสื้อผ้า เหล่านี้เป็นต้น
ที่มาของดินสอไม้: ในปี ค.ศ.1564 เกิดพายุใหญ่ในทุ่งเลี้ยงแกะใกล้กับหมู่บ้านบอร์โรว์เดล ตำบลคัมเบอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ ต้นไม้ใหญ่น้อยถูกพัดถอนรากถอนโคนเป็นจำนวนมาก หลังพายุสงบ คนเลี้ยงแกะพบเห็นหินสีดำเนื้ออ่อนจำนวนมากบริเวณหลุมใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ถูกพายุพัดโค่นล้ม เมื่อลองนำมาขีดเล่นดูก็พบมีสีเข้ม คมชัดดี จึงได้มีการนำหินชนิดนี้มาใช้เขียนสัญลักษณ์ลงบนตัวแกะของตนเอง ใช้ทำเครื่องหมายเพื่อบอกรายละเอียดของสินค้า เช่น ชนิด จำนวน ราคา ฯ หินสีดำเนื้ออ่อนชนิดนั้น ถูกเรียกว่า แกรไฟต์ (Graphite – สารคาร์บอนชนิดหนึ่ง) ต่อมาหินแกรไฟต์ได้ถูกทำให้เป็นแท่งนำไปขาย ก็พบปัญหาความสกปรกเลอะเทอะและเปราะแตกหักง่าย คนในยุคนั้นจึงใช้ เชือก กระดาษ หรือผ้า พันแท่งแกรไฟต์ไว้เสียก่อนที่จะใช้เขียน ในภายหลังประมาณปี ค.ศ. 1795 พระเจ้านโปเลียนที่ 1 มีรับสั่งให้ นิโคลาส แจ๊ค ดังเต้ หัวหน้านักเคมีและนักประดิษฐ์ชั้นแนวหน้าของประเทศฝรั่งเศส นำแกรไฟต์ที่หาได้ทั้งหมดในฝรั่งเศสมาทำเป็น ดินสอ หากแต่นานวันเข้า เกิดการขาดแคลนขี้น นิโคลาสจึงได้คิดค้นผลิตดินสอสูตรใหม่ที่ใช้แกรไฟต์น้อยลง ด้วยการนำ ดินเหนียว (Clay) มาผสมและนำไปเผาให้แห้ง จนได้ดินสอที่มีเนื้อเหนียวมากขึ้นไม่หักเปราะง่าย และต่อมา ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ชาวอเมริกันชื่อ วิลเลียม มอนโร ได้ประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับผลิตดินสอขนาดมาตรฐานได้สำเร็จ โดยการใช้ไม้แผ่นบางๆ ยาวประมาณ 6-7 นิ้ว เซาะเป็นร่องเล็กๆ ตลอดความยาวของแผ่นไม้ บรรจุแท่งแกรไฟต์ไว้ภายใน ใช้ไม้อีกแผ่นหนึ่งที่เซาะร่องแบบแผ่นแรกทากาว แล้วประกบลงไปกลายเป็น แท่งดินสอ แต่เพราะมีไม้เป็นเปลือกหุ้ม จึงเรียกว่า ดินสอไม้ ต้นแบบของดินสอที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
วัสดุที่ใช้ทำดินสอไม้: ปัจจุบันดินสอทำด้วยวัตถุดิบที่แตกต่างกันออกไปมากกว่า 40 ชนิด แต่ส่วนผสมของดินสอแท่งที่ดีที่สุด จะประกอบไปด้วย
– ไส้ดินสอ ผลิตมาจาก ส่วนผสมของ Graphite ที่ได้จากประเทศศรีลังกา มาดากัสการ์และเม็กซิโก / Clay จากประเทศเยอรมัน/ ยาง (ใช้ทำยางลบ) จากประเทศมาเลเซีย และแร่พลวง (ใช้เป็นตัวเชื่อมของ Graphite กับ Clay) จากประเทศเบลเยี่ยมและตามบริเวณชายฝั่งของประเทศเดนมาร์ก
– ไม้หุ้มไส้ดินสอ ผลิตมาจาก “ไม้ซีดา” ไม้ที่มีกลิ่นหอม เนื้ออ่อนและเหลาง่าย อายุตั้งแต่ 200 ปีขึ้นไป นำมาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
รูปร่างและขนาดของดินสอไม้: ปัจจุบันนี้ดินสอที่มีขายในท้องตลาดไม่ใช่มีแต่ดินสอไม้อย่างเดียว เราจะพบดินสอที่ผลิตจากวัสดุหลายชนิด และการนำไปใช้ก็หลากหลายขึ้น แต่ถ้าพูดถึงเฉพาะ “ดินสอไม้” จะพบว่า มีรูปทรงเป็นแท่งยาวหกเหลี่ยมมากกว่าแท่งกลม บางยี่ห้อจะติดยางลบไว้ด้วย size มาตรฐานมีความยาว 17+2 cm (ส่วนหัวยางลบ) และความกว้าง 0.85 cm แต่ถ้าเป็นดินสอสำหรับช่างไม้จะเป็นแท่งแบน สีเปลือกหุ้มดินสอมีหลายสี รวมถึงสีน้ำตาลของเปลือกไม้ด้วย
ชนิดของดินสอไม้
1. ดินสอดำ (Lead Pencil) ดินสอระดับมาตรฐานสำหรับงานเขียนทั่วๆ ไป ไส้ดินสอทำจาก ถ่านแกรไฟต์ผสมดินเหนียว ตัวอักษรกำกับ คือ B และ H ถ้าดินสอมีความเข้มน้อยจะใช้ในการร่างภาพ ส่วนดินสอที่มีความเข้มมากจะใช้ในการแรเงา
2. ดินสอคาร์บอน (Carbon Pencil) หรือ ดินสอถ่าน ไส้ดินสอทำจากส่วนผสมของถ่านไม้ (Charcoal) มีชนิดแข็งและอ่อนเช่นกัน ตัวอักษรกำกับ เริ่มจาก HH (แข็งมาก) HB (ปานกลาง ) B (ไส้อ่อนแต่ดำ) BB (ดำมาก) และ BBB (ดำที่สุด) บางบริษัทใช้ตัวอักษร E แทน
รหัสตัวอักษรและตัวเลขของดินสอ:
– ตัวอักษร H มาจากคำว่า Hard ที่แปลว่า แข็ง ดินสอที่มีรหัส H หมายถึง ดินสอที่มีไส้แข็ง ส่วนตัวเลขหน้าตัวอักษรจะบอกระดับของความแข็ง ตัวเลขมากก็จะมีความแข็งมากขึ้น ดินสอรหัสอักษร H จะเหมาะสำหรับการเขียนเส้นที่บางๆ เช่น เส้นร่าง
– ตัวอักษร B มาจากคำว่า Blackness ที่แปลว่า ความดำ ดินสอที่มีรหัสอักษร B เป็นดินสอที่มีไส้อ่อน หักได้ง่าย ตัวเลขหน้าตัวอักษรจะบอกระดับความเข้มของสี ตัวเลขมากจะมีความเข้มของสีมาก เหมาะกับงานเขียนเส้นที่ต้องการความดำของเส้น เช่น การแรเงา
– ตัวอักษร F มาจากคำว่า Fine ที่แปลว่า ละเอียด ดินสอใช้เขียนเส้นที่มีความคม และความละเอียด
– ตัวอักษร HB มาจากคำว่า Hard and Black ดินสอไส้แข็งและมีความดำของเส้น
– ตัวอักษร HH มาจากคำว่า Very Hard ดินสอไส้แข็งมาก
– ตัวอักษร EB มาจากคำว่า Extra black และ EE มาจากคำว่า Extra-Extra ดินสอใช้ในการแรเงา
ปัจจุบันรหัสตัวอักษร EB และ EE ถูกแทนที่ด้วย 7B และ 8B
เกณฑ์การจัดระดับไส้ดินสอ มีใช้อยู่ 2 ระบบ คือ ระบบยุโรปกับระบบอเมริกา เปรียบเทียบต่างกันดังนี้
ยุโรป | อเมริกา |
---|---|
B | #1 |
HB | #2 |
F | #2½* |
H | #3 |
2H | #4 |
Mode ขยะสะสม: ดินสอ เล่าด้วยภาพ
รหัสอักษร
การใช้งาน
Tips ฝากชาว net: หากมีดินสอหรืออุปกรณ์การเรียนเป็นขยะเหมือนกับ 60up ลองรวบรวมกับเพื่อนๆ แล้วจัดส่งไปให้โรงเรียนประถมศึกษาที่อยู่ห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่มักจะขาดแคลน เท่ากับช่วยเพิ่มกำลังใจให้พวกเขาได้ดีทีเดียวค่ะ
สถานที่รับบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอน: มีหลายแห่งมากค่ะ search Google ได้เลยค่ะ
-Happy Ending-