ตามหาพระพุทธรูปทองคำสมัยสุโขทัยในกรุงเทพฯ
Golden Buddha Image’ Sukhothai period in Bangkok
ทริปเข้าพรรษาพาเที่ยววัดสำหรับ post นี้… เป็นทริปพิเศษ เพราะจะพาไปชมความงดงามของพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีการตรวจสอบแล้วว่าได้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี (…ใช้คำโบราณนิ๊ดนึง) แต่ขณะปัจจุบันประดิษฐานอยู่ใน กทม. เรานี่เองค่ะ Highlight ก็คือ พระพุทธรูปในวัดทั้ง 3 แห่งที่จะพาไปชม มีเนื้อองค์พระที่สร้างด้วยทองคำแท้ ๆ ทีเดียวเชียวค่ะ… ชาว net สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมได้อย่างสะดวกและรวดเร็วนะคะ ตามสไตล์เด็กแนวว… นั่นครืออ… เดินทางด้วยรถไฟฟ้ามหานคร หรือ รถใต้ดินสายสีน้ำเงิน ค่ะ
หมายเหตุนิดนึง: หากชาว net เป็นกลุ่มคนวัยเดียวกับ 60up ก็จะจ่ายค่าโดยสารถูกลงไปเยอะเลยค่ะ อย่างช่วงที่ 60up และแก๊งค์เพื่อนไปเที่ยวกันนั้น ค่าโดยสารคิดแบบนี้ค่ะ… สถานีแรก จ่าย 9 บาท และสถานีต่อไปสถานีละ 1 บาท….. เลยมีข้อแนะนำมาฝากค่ะ… ชาวnet ที่อยากจ่ายค่ารถไฟฟ้าถูกๆ ต้องรีบทำอายุให้เท่ากลุ่ม 60up ไวๆ นะคะ… อิอิ แต่…แมะแม๋ ไม่ทันไร… ก็มีข่าวลอยมาว่าจะปรับขึ้นราคาเร็วๆ นี้แหละค่ะ ยังไงก็ติดตามข่าวอีกทีนะคะ
…เราเริ่มออกเดินทางกันเลยดีไหมคะ….
จุดหมายปลายทาง
1. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร (วัดสามจีน)
เส้นทาง
– MRT หัวลำโพง ทางออก 1 เดินตรงขึ้นไปทางเยาวราช ข้ามถนน-สะพานเจริญสวัสดิ์-ข้ามถนนและเลี้ยวซ้าย จะเจอซอยสุกร 1 แหล่งรวมร้านอาหารอร่อยเจ้าดัง มองไปทางขวาก็จะมองเห็นยอดพระมณฑปของวัดไตรมิตรฯแต่ไกลเลยค่ะ รวมระยะทางจากสถานีรถไฟฟ้าทางออก 1 จนถึงทางเข้าวัด ไม่น่าจะเกิน 300 เมตรนะคะ แต่อากู๋บอกว่า 450 เมตรค่ะ
พระพุทธรูปทองคำ
ชื่อองค์พระ: พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร หรือ หลวงพ่อทองคำ สุโขทัยไตรมิตร
สถานที่ประดิษฐาน: ชั้น 4 ของพระมหามณฑป อาคารสูง 4 ชั้น ตั้งเด่นเป็นสง่าทางฝั่งซ้ายของทางเข้าวัดด้านถนนตรีมิตร ซึ่งเป็นพระวิหารหลวง
พุทธลักษณะ:
– เป็นพระพุทธรูปทองคำแท้ (ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา -อธิบายไว้ท้ายสุดของ post ค่ะ) ปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัย หน้าตักกว้าง 3.127 m (6 ศอก 5 นิ้ว) ความสูง 4.0334 m (7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว) วัดจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป) เป็นองค์พระที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจนได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ กินเนสบุ๊ก ออฟ เรคคอร์ด ฉบับปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) และได้มีการประเมินค่าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2990 (พ.ศ. 2533) ว่าเนื้อทองคำมีมูลค่าสูงถึง 21.1 ล้านปอนด์ ตามบันทึกที่เป็นข้อความว่า “Highest intrinsic value is the 15th century gold Buddha in Wat trimitr Temple in Bangkok, Thailand. It is 3.04 m 10 ft. tall and weight estimated 5 1/2 tons. At the April 1990 price of $ 227 per fine ounce, its intrinsic worth was $ 21.1 million. The gold under the plaster exterior was found only in 1954“
– ทั้งองค์พระนับจากฐานขึ้นมาจนถึงพระศอเป็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ 40% ส่วนของพระพักตร์เป็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ 80% และพระเกศเป็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ 99.99% สามารถถอดแยกได้ 9 ส่วนนับจากฐานองค์พระขึ้นไป ประกอบด้วย พระเศียร 1 ส่วน พระองค์ 1 ส่วน พระพาหาข้างละ 3 ส่วน และพระเพลาอีก 1 ส่วน
ประวัติ/ที่มาขององค์พระ
ข้อสันนิษฐานข้อแรกกล่าวว่าพระพุทธรูป “หลวงพ่อทองคำ” องค์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุ สุโขทัย ข้อสันนิษฐานอีกข้อพบว่า หลังจากตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะถูกลงรักและพอกปูนทับเนื้อทองคำขององค์พระเอาไว้เพื่อให้รอดพ้นจากภัยข้าศึก จนกระทั่งถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 พระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ได้ถูกอัญเชิญลงมาพร้อมๆ กับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ และได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกร (วัดโชตินาราม; ปัจจุบันมีการยุบรวมวัดแห่งนี้กับวัดเงินและวัดไผ่ล้อม เรียกชื่อว่า วัดไผ่เงินโชตินาราม) จนถึงปี พ.ศ. 2478 จึงถูกอัญเชิญต่อไปยังวัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยารามปัจจุบัน) หลังสร้างพระวิหารเสร็จ จึงได้เคลื่อนย้ายองค์พระเพื่อไปประดิษฐาน แต่ระหว่างการเคลื่อนย้ายเกิดการกะเทาะของปูนจนทำให้เห็นเนื้อทองคำขององค์พระที่ถูกพอกปิดทับเอาไว้ หลังจากค้นพบว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างจากทองคำทั้งองค์แล้ว ก็ยังคงพบความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายอยู่ดี จนกระทั่งได้พบกุญแจกลสำหรับถอดองค์พระอยู่ใต้ฐานทับเกษตร ซึ่งสามารถถอดแยกได้ 9 ส่วนดังกล่าวข้างต้น แต่ในการเคลื่อนย้ายองค์พระครั้งนี้ได้ถอดเพียง 4 ส่วน ได้แก่ พระศอ พระหัตถ์ 2 ข้าง และพระนาภี ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระมหาสุวรรณปฏิมากร และในปี พ.ศ. 2552 หลังการสร้างพระมหามณฑปเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระชนมายุครบ 80 พรรษาแล้วเสร็จ จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อทองคำไปประดิษฐาน ณ ชั้น 4 ของอาคาร ตราบจนถึงปัจจุบัน
2. วัดมหรรณพารามวรวิหาร
เส้นทาง
– MRT สามยอดทางออก 3 เลี้ยวขวา และเลี้ยวขวาอีกครั้งตรงสี่แยก เดินเท้าเลียบถนนอุณากรรณ ไปทางสวนรมณียนาถ ฝั่งทางขวา ผ่านวัดสุทัศน์เทพวรารามวรวิหารทางฝั่งซ้าย ข้ามถนนตรงเสาชิงช้า – เข้าสู่ถนนดินสอ ทางฝั่งขวาจะเป็นศาลาว่าการกทม. – เลี้ยวซ้ายเข้าถนนตึกดิน และเลี้ยวซ้ายอีกครั้งเข้าถนนตะนาว ก็จะถึงจุดหมาย วัดมหรรณพารามวรวิหาร… อ้อ..พิกัดอยู่ใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือด้วยค่ะ เส้นทางนี้จะไกลนิดนึงประมาณ 1 กิโลหน่อยๆ แต่เดินไปคุยไป แป๊บเดียวก็ถึงค่ะ…อิอิ
พระพุทธรูปทองคำ
ชื่อองค์พระ: หลวงพ่อพระร่วงทองคำ
สถานที่ประดิษฐาน: พระวิหารหลวง ถนนตะนาว แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
พุทธลักษณะ:
– พระพุทธรูปทองคำแท้ ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ขนาดหน้าตัก กว้าง 2.9318 m (1 วา 1 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว) สูง 3.9826 m (1 วา 3 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว) องค์พระเป็นโลหะเนื้อทองคำบริสุทธิ์ 60 % และตัวองค์พระพบรอยต่อ 9 แห่งโดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อมรอยต่อ ฐานที่ประดิษฐานกว้าง 5 m (2 วา 2 ศอก) และสูง 4.6778 m (2 วา 1 ศอก 7 นิ้ว) ถัดจากฐานขึ้นไปเรียกว่า บัลลังก์ ทำเป็นลายดอกบัวคว่ำดอกบัวหงาย และดอกไม้เครือกระจังลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสีต่างๆ การสร้างองค์พระให้มีรอยต่อ 9 ชิ้น เปรียบเสมือนเป็นเคล็ดลับที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า
– หลวงพ่อพระร่วงทองคำองค์นี้ มีเสียงเล่าขานต่อ ๆ กันมาว่ามีเมตตาวาจาสิทธิ์ จะอธิษฐานหรือขอพรอะไร จะได้สมปรารถนาเสมอ และสำหรับเครื่องสักการะที่นิยมนำมากราบไหว้บูชา ก็ได้แก่ ตะกร้อและว่าว ค่ะ
ประวัติ/ที่มาขององค์พระ
ตามที่พอจะสืบค้นได้ก็พบว่า แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐาน ณ วัดโคกสิงคาราม เมืองศรีสัชนาลัย กรุงสุโขทัย ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ พระวิหาร วัดมหรรณพารามวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2393 และเพราะได้มาจากกรุงสุโขทัย จึงได้เรียกว่า หลวงพ่อพระร่วง หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า หลวงพ่อร่วง คาดว่าเรียกพระนามให้มีความหมายพ้องกับคำว่า “พระร่วง” ที่แปลว่า รุ่งโรจน์ ด้วย
(ประวัติหลวงพ่อพระร่วง ยังมีน้อยไม่ชัดเจน.. ไว้ 60up จะไปหาข้อมูลที่วัดมาเพิ่มให้ถูกต้องครบถ้วนนะคะ)
3. วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร
เส้นทาง
– MRT อิสรภาพทางออก 1 เดินตรงเลียบถนนไปทางซ้ายเข้าซอย อิสรภาพ 28 (ซอยกุฎีเจริญพาศน์) ระยะทาง 650 เมตร จะพบวัดตั้งอยู่ลึกสุดของซอย และติดแม่น้ำเจ้าพระยาค่ะ (ไปวัดทางซอยอิสรภาพ 34 ก็ได้ค่ะ ไกลกว่าหน่อยนึง)
พระพุทธรูปทองคำ
ชื่อองค์พระ: พระพุทธรูปทองคำโบราณ
สถานที่ประดิษฐาน: ตั้งอยู่ในพระวิหาร ถนนอิสรภาพซอย ๒๘ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
พุทธลักษณะ:
– เป็นพระพุทธรูปทองเนื้อผสมนวโลหะ ปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ศิลปะสมัยสุโขทัย มีหน้าตักกว้าง 160 ซม. และสูง 183 ซม.
ประวัติ/ที่มาขององค์พระ
– แรกเริ่มพบพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหารอยู่แล้วค่ะ (ชื่อวัดแต่เดิม: วัดเจ้าสัวหง/วัดเจ้าขรัวหง-ยุคกรุงศรีอยุธยา, วัดหงส์อาวาสวิหาร-ยุคกรุงธนบุรี, วัดหงส์อาวาศวรวิหาร-ร.1, วัดหงส์อาวาสวรวิหาร-ร.2/วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร-ร.6) ลักษณะองค์พระที่แรกพบอยู่ในสภาพขององค์พระแบบปูนปั้นศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2499 หลังจากพบรอยกะเทาะของปูนปั้น ทำให้ได้พบเห็นว่าแท้จริงแล้ว เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยทองคำแท้ๆ ศิลปะของยุคกรุงสุโขทัย รวมเข้ากับการอ่านอักษรโบราณที่ปรากฏตรงฐานองค์พระ ทำให้ทราบว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1966 โดย สมเด็จท้าวพระยาศรียศราช ได้สร้างถวายพระราชบิดา-เจ้าเมืองเชลียง(สวรรคโลก) เมือง 1 ใน 4 ของแคว้นสุโขทัยแต่เดิม
ส่งท้าย: 60up หวังว่า การพาเที่ยวชมพระพุทธรูปทองคำใน post นี้ จะทำให้ชาว net /ผู้อ่าน ได้เรียนรู้ถึงวิธีคิด และปัญญาอันเฉียบแหลมของบรรพบุรุษไทยที่คิดและะหาวิธีการรักษาทรัพย์สมบัติของชาติเอาไว้ให้ตกทอดมาถึงลูกหลานรุ่นเราได้ชื่นชม และเสมือนเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกทางหนึ่ง พวกเราจึงควรรู้สึกรักหวงแหนและรักษาทรัพย์สมบัติเหล่านั้นให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน ระลึกถึงความเสียสละของบรรพชนรุ่นก่อน และร่วมกันสร้างเสริมวัฒนธรรมดีงามของชาติไทยเราให้คงอยู่เพื่อลูกหลานในอนาคตต่อไปนะคะ….สวัสดีค่ะ…see you
ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา
การกำหนดคุณภาพทองคำของไทย (ปรากฎหลักฐานตามประกาศในรัชกาลที่ 5) จะตั้งราคาตามเปอร์เซ็นต์บริสุทธิ์ของเนื้อทองคำ ส่วนราคาก็จะเทียบกับน้ำหนักทอง 1 บาทเป็นเกณฑ์ ดังนี้
- ทองเนื้อสี่ = ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 4 บาท
- ทองเนื้อห้า = ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 5 บาท
- ทองเนื้อหก = ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 6 บาท
- ทองเนื้อเจ็ด = ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 7 บาท
- ทองเนื้อแปด = ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 8 บาท
- ทองเนื้อเก้า = ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 9 บาท
ทองคุณภาพสูงสุดคือ ทองเนื้อเก้า หรือที่เรียก ทองชมพูนุช มีเปอร์เซ็นต์ทองคำบริสุทธิ์ 97-99% ลักษณะเป็นแร่ทองคำตามธรรมชาติ ไม่ผ่านกระบวนการถลุงแร่ หลังการขุดและร่อนก็มีสีสวยสุกอร่ามเช่นนี้ตั้งแต่แรก ทองเนื้อเก้ามีค่าเนื้อทองสูงสุดและราคาซื้อขายแพงที่สุด พบครั้งแรกที่บางตะพานในสมัยพระเจ้าบรมโกศ บางทีจึงเรียกว่า ทองคำบางตะพาน ปัจจุบัน บางตะพาน คือ บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์
ส่วนคำว่า “สองขา” มาจากการกำหนดราคาทองไว้ว่า ทองหนึ่งขา = เศษ 1 ส่วน 4 ของหนึ่งบาท หรือคือ 1 สลึง หรือ 25 สตางค์
ดังนั้น ทองเนื้อเจ็ดสองขา ที่ใช้ในการสร้างองค์พระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตรฯ จึงหมายถึง ทองคำที่มีราคาเทียบเท่ากับ 7 บาท 2 สลึง