เที่ยววัดมอญครั้งแรก @ วัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด
1st MON TEMPLE TOUR: Wat Paramai Yikawat, KOH KRET
สำหรับทริปเข้าพรรษาพาเที่ยววัด post นี้ จะพาชาว net ไปสัมผัสศาสนสถานของคนมอญที่เรียกว่า “วัด” ไม่ผิดค่ะ เพราะเป็นชาวพุทธเช่นเดียวกับคนไทย แต่จะมีความเหมือนหรือต่างกับวัดไทย อันนี้ล่ะค่ะที่น่าสนใจ ไปหาคำตอบพร้อมกันนะคะ …
เกริ่นนิดหน่อย จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า ปัจจุบันมีวัดมอญอยู่ในประเทศไทยเกือบ 400 วัด พบมากสุดที่ ปทุมธานี ∼70 วัด, นนทบุรี ∼50 วัด ส่วนกรุงเทพมหานครมี ∼30 วัด และที่น่าทึ่งไปกว่านั้น วัดดังอย่าง วัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน, วัดวังก์วิเวการาม สังขละบุรี กาญจนบุรี หรือว่า วัดบางพลีใหญ่ใน สมุทรปราการ ก็เป็นวัดมอญเช่นกันค่ะ เฉพาะในเกาะเกร็ดที่ 60up and the gangs ชวนกันไปเที่ยวในทริปนี้ ก็เจอวัดมอญ 5 แห่ง เริ่ม check in ที่แรก @ วัดปรมัยยิกาวาส ต่อด้วยวัดไผ่ล้อม ไปวัดเสาธงทอง วัดฉิมพลี และวัดสุดท้าย…วัดป่าเลไลยก์ ซึ่งเป็นวัดร้างในปัจจุบัน แต่ก็มีร่องรอยในอดีตที่ควรแวะชมค่ะ หรือแม้แต่ วัดสนามเหนือ ท่าเรือข้ามฟากมาเกาะเกร็ด ก็เป็นวัดมอญเช่นกัน
ทำไมเลือก post วัดปรมัยยิกาวาส (คำอ่าน: วัด-ปะ-ระ-ไม-ยิ-กา-วาด) ประเดิมเป็นวัดแรกหรือคะ
❶ ได้แต่มองดู องค์พระเจดีย์เอียง สีขาว ห่มผ้าแดง ขณะนั่งรถผ่านไปผ่านมา แล้วก็ผ่านไปมาบ่อยๆ ครั้ง
❷ ได้เที่ยวเกาะเกร็ดเป็นครั้งแรก
❸ มีความประทับใจที่วัดแห่งนี้มีศาสนสถานและหลากหลายเรื่องราวให้ได้เรียนรู้ และมีความเป็น “วัด” จริงๆ
❹ มีเพื่อนเจ้าถิ่นเป็นไกด์กิติมศักดิ์ ทำให้ได้สัมผัสบรรยากาศและวัฒนธรรมชาวมอญอย่างใกล้ชิด
ประเภทวัด พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
ที่ตั้ง บ้านโอ่งอ่าง ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ประวัติ
ปี พ.ศ. 2264-2265 มีข้อสันนิษฐานว่า ผู้คนที่อยู่อาศัยบนผืนดินที่เป็นเกาะเกร็ดในสมัยนั้น คงได้สร้างวัดแห่งนี้เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจ และหลังจากมีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางติดต่อค้าขายของพ่อค้าทุกชนชาติกับกรุงศรีอยุธยา และเพื่อให้เป็นหน้าด่านตรวจการเข้าออกของเรือสินค้า ผืนดินแห่งนี้จึงกลายเป็นย่านค้าขายของชุมชนและเรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า วัดปากอ่าว แต่ชาวมอญที่อาศัยอยู่ในชุมชนบนกเกาะนี้ ยังคงเรียก วัดหัวแหลม เช่นเดิม ภาษามอญเรียก วัดมุฮ์เกียะเติ่ง แปลว่า มีที่ตั้งอยู่บริเวณหัวแหลมของผืนดิน
ปี พ.ศ. 2307 พม่าบุกยึดเมืองนนทบุรี ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดร้าง
ปี พ.ศ. 2317 ชาวมอญที่อพยพเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งส่วนใหญ่ลี้ภัยมาจากเมืองเมาะตะมะ, เมืองหงสาวดี และเมืองอื่นที่เคยเป็นอาณาจักรของชาวมอญในประเทศพม่า ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ จนที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางการประกอบศาสนกิจของชุมชนมอญบนเกาะเกร็ด
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าบรมอัยยิกาเธอ กรมเสด็จพระสุดารัตนราชประยูร และพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงอภิบาลพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่ยังคงรูปลักษณ์แบบมอญไว้เช่นเดิม พระราชทานนามว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” ที่หมายถึง วัดของพระบรมอัยยิกา นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำเมืองนนทบุรี “พระนนทมุนินท์” พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร อีกด้วย
@@@ ปักหมุด–จุดเช็คอิน
📌 ท่าเรือวัดสนามเหนือ-วัดปรมัยยิกาวาส
เราจะเริ่ม เช็คอิน แบบไม่ต้องตั้งหลัก-ตั้งแต่ยังไม่ถึงวัดปรมัยฯกันเลยเหรอเนี่ย …ช่ายยค่ะ เพราะเราจะเริ่มเที่ยวตั้งแต่ตรงนี้เลยค่ะ ท่าเรือวัดสนามเหนือ (ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 19 ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี)
ศาลาด้านหลังวัดสนามเหนือ
เส้นทางเดินไปท่าเรือ
รูปลักษณ์วัดมอญ: เสาคู่รูปหงส์
หน้าจั่วศาลาเป็นแบบปราสาทไม้ห้ายอด
หน้าบันมีลวดลายเฉพาะวัด
ศาลาท่าเรือวัดสนามเหนือ
นั่งเรือข้ามฟากไปท่าเรือวัดปรมัยฯ
ค่าโดยสาร คนละ 5 บาท
ไม่มีครึ่งราคาสำหรับ สว.ค่ะ…อิอิ
ร้านขายหมวก
Shopping ระหว่างรอเรือเทียบท่า
มีตั้งแต่ราคา 20 บาทขึ้นไป
ที่นางแบบใส่ใบละ 30 บาท
(ขอบคุณคุณพี่นางแบบจำเป็นนะคะ)
เรือข้ามฟาก
ลงเรือข้ามฟากไปท่าเรือวัดปรมัยฯ
เที่ยวเกาะเกร็ด
ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-10 นาที
พระเจดีย์มุเตา
ตั้งอยู่บริเวณมุมโค้งของเกาะเกร็ด
ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
มองเห็นได้ชัดเจนขณะนั่งเรือข้ามฟาก
วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร
มุมมองจากการถ่ายภาพบนเรือข้ามฟาก
ศาลาที่พักนักท่องเที่ยว
ทางเข้าวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร
ศาลาแบบปราสาทไม้ห้ายอด
ป้ายภาษามอญ
📌 พระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร
…พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ผู้สร้างพระสยามเทวาธิราช
…ภายในพระอุโบสถ ส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ภาพฝาผนังเป็นจิตรกรรมแบบไทยประยุกต์ บานประตูและหน้าต่างประดับลายปูนปั้นเขียนสี กำแพงแก้วทำด้วยเหล็กจากยุโรปเน้นลวดลายสวยงาม
…การสวดมนต์แรกเริ่มใช้เป็นภาษามอญ ปัจจุบันไม่ทราบแน่ชัด แต่ที่แน่นอนก็คือ เป็นวัดที่อนุรักษ์พระไตรปิฏกภาษามอญเอาไว้
…ด้านหลังของพระอุโบสถ เป็น พระมหารามัญเจดีย์ ที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อชาวมอญที่อาศัยอยู่บนเกาะเกร็ด จะได้กราบไหว้สักการะบูชาแทนพระเจดีย์ของเมืองมอญ โดยได้จำลองแบบมาจากพระเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี กับ พระเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้งของพม่า และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในปี พ.ศ. 2427
…ลักษณะองค์พระเจดีย์: ตั้งอยู่บนฐานสูงกว้าง 1.15 m (5 วา 3 ศอก) มีกำแพงซี่ลูกกรงล้อมรอบลานประทักษิณรูปเกลียวคลื่นในมหาสมุทร สื่อความหมายตามคติโบราณเกี่ยวกับ เขาพระสุเมรุ ที่เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลและโอบล้อมด้วยมหาสมุทร ทางขึ้นอยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ทางลงจะเดินออกโดยหันหน้าไปทางทิศเหนือตามความเชื่อของชาวมอญ และจะสังเกตเห็นเสาคู่รูปหงส์หน้าองค์พระเจดีย์อีกด้วยค่ะ
📌 พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 5 หอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในบริเวณวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เป็นอาคารสองชั้นสร้างสมัยรัชกาลที่ 5 โดยที่
…..ชั้นล่าง จัดแสดงเรื่องราวเครื่องปั้นดินเผา ตัวอย่างแต่ละภาค เตาเผาและหุ่นช่างปั้นจำลองฯ
…ส่วนชั้นบน ทราบว่าเป็นข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวในพระเจ้าบรมบรมอัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร, สิ่งของที่อดีตเจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมา และสิ่งของที่แสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญฯ
แต่วันที่ 60up and the gangs ไปเที่ยวนั้นชั้นบนปิดให้บริการค่ะ … อดดู sorry จ้า… เลยไม่มีภาพมาฝากค่ะ
📌 พระเจดีย์มุเตา
——————-วันที่ไปเที่ยว น้ำในแม่น้ำเอ่อเต็มฝั่งจึงมีภาพมาฝากได้แค่นี้ค่ะ——————-
เจดีย์ทรงเอียงสีขาว มีผ้าแดงพันรอบองค์เจดีย์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่พวกเรามองเห็นกันแต่ไกลขณะนั่งรถผ่านบนสะพานพระราม 4 นั่นแหละค่ะคือ พระเจดีย์มุเตา สัญญลักษณ์ของวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร และเมื่อมองเห็นองค์เจดีย์ เราก็จะบอกพิกัดได้ว่า ที่ดินกลางน้ำตรงบริเวณนั้นก็คือ เกาะเกร็ด นั่นเองค่ะ
…ลักษณะองค์พระเจดีย์มุเตา เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานแปดเหลี่ยมย่อมุม ยอดเจดีย์มีฉัตรทรงเครื่อง 5 ชั้นแบบอย่างมอญ สูง 2 เมตร สร้างโดยชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ครั้งแรกในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ภายในบรรจุพระธาตุส่วนใดไม่ปรากฎ ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น โบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปี 2478 และแรกสร้างแต่เดิมองค์พระเจดีย์ก็ตั้งตรงเป็นปกติ แต่ด้วยความแรงของกระแสน้ำที่กัดเซาะ นานวันเข้าทำให้ตลิ่งพังยุบเข้ามาเรื่อยๆ เจดีย์จึงทรุดเอียงลง และอยู่ในสภาพเจดีย์เอียงแบบนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2434 จนถึงทุกวันนี้…
—เมื่อวันที่รอคอยเที่ยวเกาะเกร็ดของ 60up มาถึงแทบจะร้องไชโย ไชโย และก็ไชโยดังๆ ที่ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อได้มาชมวัดปรมัยยิกาวาส;วรวิหารแห่งนี้ด้วยแล้วยิ่งรู้สึกอิ่มเอมใจมากกว่าเดิม ทำให้ต้องหยิบเอาเรื่องราวของวัดแห่งนี้มาให้ชาว net ได้อ่านกันก่อนวัดแห่งอื่นๆ ที่ได้ไปเที่ยวก่อนหน้านี้อีกหลายวัด สำหรับ #ทริปเข้าพรรษาพาเที่ยววัดปี 2565 นี้ค่ะ—-